สถาบัน/คณะ/ศูนย์/สำนัก
เว็บไซต์สถาบันฯ : http://www.pit.ac.th/
2475: ก่อตั้งโรงเรียนอาชีพ “ช่างกล” แห่งแรกของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2475 โรงเรียนนายเรือได้ยกเลิกแผนกพรรคกะลินซึ่งสอนวิชาวิศวกรรมเครื่องกลเรือที่มีอยู่แห่งเดียว เฉพาะในกองทัพเรือเมื่อปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้วิชาช่างกลย่อมจะสูญสิ้นไปในที่สุดนาวาเอกพระประกอบกลกิจ (เจ๋อ จันทรเวคิน) เมื่อสมัยยังดำรงยศนาวาตรีหลวงประกอบกลกิจดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนนายเรือแผนกพรรคกะลิน มีความห่วงใยวิชาช่างจักรกลย่อมไม่เจริญได้อย่างแน่นอน จึงชักชวนนายทหารผู้ใหญ่นายทหารผู้น้อยที่เป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ร่วมใจกันสละเงินเดือนตามกำลังเพื่อจัดตั้ง “โรงเรียนอาชีพช่างกล”
เพื่ออนุรักษ์วิชาช่างกลให้แพร่หลาย เป็นคุณประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติต่อไป โดยได้ขออนุญาตใช้โรงงานกรมอู่ทหารเรือเป็นสถานที่ใช้ฝึกฝนฝีมือช่าง 10 ประเภท ได้แก่ ช่างตีเหล็ก ช่างตะไบ ช่างบัดกรี ช่างประสาน ช่างปรับ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างกลึง ช่างเดินเครื่องจักรและช่างออกแบบ ครูผู้สอนส่วนใหญ่เป็นนายทหารเรือที่อยู่ในพรรคกะลินช่วยสอนโดยมิได้เรียกร้องค่าตอบแทน
ในปี พ.ศ. 2475 โรงเรียนอาชีพช่างกล ได้ก่อตั้งมาจากเจตจำนงอันงดงามที่จะสร้างสรรค์วิชาช่างกลให้รุ่งเรืองของท่านนาวาเอกพระประกอบกลกิจ ร.น. ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และคณะนายทหารเรือ ที่ได้ริเริ่มไว้ โดยใช้สถานที่ใต้ถุนตึกของพระคลังข้างที่ในตรอกกัปตันบุช สี่พระยา เขตบางรัก เปิดทำการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 โดยมีนานาวาเอก พระประกอบกลกิจ ร.น. เป็นผู้อำนวยการ การจัดการเรียนการสอนในช่วงแรกนั้นได้นำลูกหลานของนายทหารเรือ และผู้สนใจเข้ารับการศึกษาการจัดหาครู-อาจารย์ ผู้สอน ได้ติดต่อขอเชิญเรือเอก หลวงสุรภัฏพิศิษฐ์ ร.น. เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียน และเรือเอกสงวน คงศิริ ร.น. เป็นอาจารย์ผู้ปกครอง
การรับนักศึกษาในรุ่นแรก กำหนดความรู้ชั้นประถมปีที่ 3 หรือเทียบเท่า อุปกรณ์ในการเรียนการสอนก็สั่งซื้อเข้ามาทีละเล็กละน้อยสำหรับฝึกหัด เช่น เตาเผาเหล็ก ทั่ง ค้อน ปากกาจับงาน เครื่องกลึง นอกจากเครื่องมือประจำโรงเรียนเหล่านี้แล้ว กองทัพเรือยังได้ให้การอุปการระ โดยให้นักเรียนไปฝึกงานภาคปฏิบัติที่กรมอู่ทหารเรือเครื่องจักรบางชิ้น กรมอู่ทหารเรือก็มอบให้แก่โรงเรียนเป็นเครื่องมือสำหรับนักเรียนฝึกหัดงานทางโรงเรียน